27 ตุลาคม 2549

Bon Echo Thai on OS X

ด้วยความที่อยากใช้ Bon Echo หรือ Firefox 2.0 บน OS X แบบที่ตัดคำไทยได้ แต่ยังไม่เห็นมีใครคอมไพล์มาแจก เมื่อคืนว่างๆ เลยลองคอมไพล์ดูเอง โดยใช้ patch cttex ที่พี่ฮุ้ยทำไว้ ตอนแรกทำได้แค่ binary เฉพาะ PowerPC ต่อมาไปเจอเอกสารเกี่ยวกับวิธีสร้าง universal binary ที่ http://developer.mozilla.org/en/docs/Mac_OS_X_Universal_Binaries เลยลองคอมไพล์ใหม่ รอหนึ่งคืนได้ universal binary ออกมา เอาไปวางไว้ที่ http://ict.siit.tu.ac.th/bonecho/firefox-2.0.en-US.mac.dmg เผื่อว่าใครสนใจจะเอาไปใช้บ้างก็เชิญครับ

ส่วน Firefox เวอร์ชันใหม่ เท่าที่ลองใช้ดู ก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ หน้าตาแตกต่างจากเดิมไปนิดหน่อย ยังไม่ได้ลองใช้ฟังก์ชันใหม่ๆ ตอนนี้เจออย่างเดียวคือระบบจัดการ tab ดูจะดีขึ้น

29 กันยายน 2549

Marvin Minsky

วันก่อนได้เมลจากลิสต์ของ JSAI (สมาคมปัญญาประดิษฐ์ของญี่ปุ่น) ว่ามีการเผยแพร่วิดีโอคำบรรยายของศ. Marvin Minsky ซึ่งทาง JSAI ได้เชิญไปบรรยายเมื่อวันที่ 30 กันยายนปีที่แล้ว ในหัวข้อ "จะทำให้เกิดผลอย่างยิ่งใหญ่ในการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างไร" ดูหัวข้อแล้วน่าสนใจ วันนี้เลยพยายามโหลดไฟล์มาฟัง เพราะคิดว่าดูแบบออนไลน์คงจะไม่ไหว

Minsky ถือว่าเป็นนักวิจัยกลุ่มแรกๆ ที่บุกเบิกงานวิจัยทางด้านปัญญาประดิษฐ์ เป้นคนคิดค้น Perceptrons ซึ่งเป็นโมเดลพื้นฐานของ Artificial Neural Networks รวมทั้งเขายังเป็นคนเสนอข้อกำจัดของ Perceptrons ด้วย

ถ้าสนใจก็เชิญไปดูวิดีโอได้ที่ http://www.ai-gakkai.or.jp/jsai/minsky/ เว็บเป็นภาษาญี่ปุ่นได้เข้าใจได้ไม่ยาก เห็นว่าจะเปิดได้โหลดได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้

19 สิงหาคม 2549

ภาษาไทย

เมื่อคืน (เขียนไว้ หลายอาทิตย์ก่อน จำวันไม่ได้แล้ว) ได้ดูรายการหลุมดำก่อนจบนิดหน่อย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาษาของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่าโดยส่วนตัวก็ไม่ชอบการใช้ภาษาแปลกๆ พวก "ทามมาย" หรือ "ยางงาย" จะไม่มีความพยายามที่จะอ่านข้อความแบบนี้เกินสองบรรทัด และปัจจุบันก็ยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจเสมอ เวลาผู้ประกาศข่าวกีฬาพูดว่า "มีการแข่งขันทั้งหมด 4 ชนิดกีฬา" แทนที่จะพูดว่า "มีการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 4 ชนิด" นอกจากนี้ก็รู้สึกสนับสนุนความพยายามรณรงค์การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง

แต่เมื่อดูรายการช่วงสุดท้ายเมื่อคืนนี้ ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่าง เมื่อได้ยินคำพูดของอาจารย์เจ้าของโครงการหมอภาษา ซึ่งพูดประมาณว่า เราจะต้องรณรงค์การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะสูญเสียเอกลักษณ์ของชาติ หรือแม้กระทั่งเสียชาติ ฟังแล้วก็รู้สึกไม่เห็นด้วยก็เพราะส่วนตัวคิดว่าภาษาคือเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ มันควรจะถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการและความพอใจของผู้สื่อสาร ไม่ใช่ว่าหลักภาษานั้นจะต้องถูกเคารพบูชาเป็นดั่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามละเมิด ห้ามแก้ไขหรือดัดแปลง จากอดีตถึงปัจจุบันภาษาไทยนั้นก็ใช่ว่าจะคงอยู่ตามหลักที่คนทุกวันนี้ถือว่าถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรจะใช้ว่า "เปน" เหมือนภาษาไทยเมื่อประมาณร้อยปีก่อน หรือเราก็ไม่ควรจะกำหนดหลักการ "กร่อนเสียง" ว่าเป็นหลักภาษาไทยที่ถูกต้อง อย่างเช่น "ตะวัน" ก็ควรจะกลับไปใช้อย่างเดิมว่า "ตาวัน" เพราะให้ความหมายที่ถูกต้องชัดเจนกว่า ใครจะรู้ว่าตะวันอาจจะเกิดจากความคนองปากของใครซักคนในสมัยก่อนก็ได้ หรือคำที่ออกเสียงแบบควบไม่แท้อย่างคำว่า "จริง" ผมก็เดาว่าเดิมอาจจะออกเสียงว่า "จะ-หริง" เหมือนอย่าง จรัส หรือ จริต แต่คงจะเกิดความไม่ถนัด หรือเกิดความนิยมอะไรบางอย่าง ทำให้กลายเป็นออกเสียงว่า จิง ไปในที่สุด

ผมคิดว่ายังไงภาษาไทยก็ยังคงเป็นภาษาไทยอยู่วันยังค่ำ คนไทยคงจะใช้ภาษาไทยไปอีกนาน แต่อีกร้อยปีข้างหน้าภาษาไทยคงไม่เหมือนเดิม ต่อไปเราอาจจะมี "ทามมาย" อยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องโวยวายว่าเป็นภาษาวิบัติ เพราะถ้าภาษาไทยยังทำหน้าที่เพื่อการสื่อสารได้ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผมว่าสิ่งที่เราควรทำคือรณรงค์การใช้ภาษาที่ถูกต้อง แล้วก็แนะนำให้เหตุผลว่าทำไมเราควรจะใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลัก ส่วนต่อไปจะเป็นยังไงนั้น ก็คงต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ

15 สิงหาคม 2549

ALWAYS 三丁目の夕日

สัปดาห์ก่อนมีโอกาสดูหนังเรื่องALWAYS 三丁目の夕日 บนเครื่องบิน หลังจากอยากดูมานาน ด้วยความที่มีนักศึกษาคนหนึ่งแนะนำ แล้วก็ยังไปอ่านคำเชิญชวนในหนังสือพิมพ์มาอีก

ALWAYS 三丁目の夕日 (ซังโจเมะโนะยูฮิ) เป็นหนังแบบเรียบๆ ง่ายๆ ขนาดที่ว่าถ้าเห็นใบปิดหนังก่อน ก็คงไม่เลือกดูหนังเรื่องนี้ เพราะทำเป็นรูปเชยๆ เหมือนใบปิดหนังสมัยโบราณ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นเมื่อเกือบหกสิบปีที่แล้ว บทกล่าวถึงปีโชวะที่ 33 (พ.ศ.2504) หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามไป 13 ปี เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเริ่มสร้างตัวอีกครั้ง ชีวิตผู้คนในญี่ปุ่นยังไม่สุขสบายเป็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงต้องปากกัดตีนถีบ แต่อุตสาหกรรมหลายๆ ส่วนก็เริ่มก้าวหน้า เริ่มมีเศรษฐีใหม่ มีตึกใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง เรื่องราวหลักของหนังเรื่องนี้ พูดถึงตัวละครต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในโตเกียว ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ชีวิตที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันก็คือความหวัง ที่คิดว่าสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

หนังเรื่องนี้แม้จะไม่มีพระเอก หรือนางเอกเด่นๆ เป็นตัวละครหลักของเรื่อง แต่บทซึ่งเป็นจุดเด่นที่สุด ก็สามารถส่งเสริมให้ทุกคนกลายเป็นตัวเอก สามารถนำเรื่องราวเล็กๆ หลายๆ เรื่องเข้ามาปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน และเพลิดเพลิน สร้างประทับใจให้กับคนดูได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องสร้างความตื่นเต้น หรือเอาเทคนิคพิสดารอะไรเข้ามาช่วย ขอเพียงแค่มีบทที่น่าสนใจ และดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลก็เพียงพอแล้ว (สมเหตุสมผลที่ว่านี้ ไม่ได้แปลว่าจะเป็นเรื่องเกินจริงไม่ได้ แต่ถ้าจะเป็นจินตนาการ ก็ควรจะเป็นจินตนาการแบบที่มีเหตุผล) แต่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่เทคนิคอะไรเลย เพราะการจะสร้างญี่ปุ่นเมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้วขึ้นมาให้สมจริง ก็คงจะต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ ไม่น้อย โดยสรุปแล้วเรื่องนี้เป็นหนังที่น่าสนใจ และแนะนำให้ลองไปหากันมาดู

ก่อนจบขอวกเข้ามาเรื่องการเมืองเกี่ยวกับสงครามโลกหน่อย เพราะวันนี้มีข่าวว่านายกฯ ญี่ปุ่นเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ในวันสิ้นสุดสงครามโลก ซึ่งก็คงจะเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเพราะโคะอิซึมิ แกจะวางมือทางการเมืองในเดือนหน้านี้แล้ว เห็นข่าวแล้วก็เดาได้ทันทีว่าจีน และเกาหลีใต้คงจะประท้วงอย่างเต็มที่ เพราะศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลก รวมถึงบรรดานายพลต่างๆ ที่ถูกประหารชีวิตในฐานะอาชญากรสงคราม โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกคัดค้านนายกฯ ญี่ปุ่นเท่าไรนัก เพราะมองอีกแง่หนึ่งถึงเขาจะเป็นอาชญากรสงคราม ทำความเลวร้ายไว้มากมาย แต่คนเหล่านั้นก็คือคนที่เสียชีวิตเพื่อญี่ปุ่น แต่สงสัยว่าทำไมญี่ปุ่นไม่ทำเรื่องพวกนี้ให้มันเรียบร้อยไป ทั้งๆ ที่สงครามก็ผ่านมาหกสิบกว่าปีแล้ว ถ้าหากญี่ปุ่นจะกล่าวคำขอโทษต่อชาติต่างๆ อย่างจริงใจ แล้วก็ทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ญี่ปุ่นก็คงจะไม่มีชนักติดหลังอย่างทุกวันนี้ (แต่ไม่นานมานี้ก็มีข่าวว่าญี่ปุ่นเคยจะกล่าวคำขอโทษจีนสมัยนายกโอบุชิ แต่จีนไม่ยอม ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงแค่ไหน) ุ

04 กรกฎาคม 2549

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์

ช่วงนี้ได้อ่านหนังสือ "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" โดยพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งเอามาพิมพ์อีกครั้ง เนื่องในโอกาส 100 ปีชาตกาลของท่านพุทธทาส หาอยู่นานเหมือนกัน เพราะถูกเอาไปหมกไว้ที่ชั้นลึกสุดในสุด (เห็นบทความเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ของเสถียรพงษ์ วรรณปก ในมติชนฉบับวันอาทิตย์ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น) จริงๆ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าเล่มหนึ่ง เนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นไปในแบบที่เรารู้ๆ กันอยู่ ตัวเองก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธประวัติมาหลายเล่มแล้ว ทำให้ตอนแรกไม่รู้สึกถึงความพิเศษอันใด แต่ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือ ท่านพุทธทาสเรียบเรียงพุทธประวัติจากพระไตรปิฎก จึงเหมือนเราได้ฟังพุทธประวัติที่เล่าจากพระพุทธองค์โดยตรง

เนื้อหาที่รู้สึกว่าสำคัญที่สุดจากหนังสือเล่มนี้คือ พุทธประวัติในช่วงก่อนการตรัสรู้ หลังจากที่พระพุทธองค์ละจากการบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้ว ทำให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบหลักธรรมหลายๆ อย่างก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ เช่น ทรงค้นพบอิทธิบาทและเบญจขันธ์ อ่านแล้วทำให้รู้สึกศรัทธาในพระพุทธเจ้ามากขึ้น เพราะเดิมไม่มีใครเคยพูดถึงหลักธรรมที่พระองค์ทรงคิดค้นได้ก่อนการตรัสรู้ เวลาอ่านพุทธประวัติก็จะรู้สึกเหมือนว่า ท่านนั่งสมาธิในคืนที่ตรัสรู้ แล้วก็ท่านก็ตรัสรู้ เข้าใจในหลักธรรมทุกๆ อย่าง โดยไม่รู้อะไรมาก่อน ซึ่งพุทธประวัติแบบนี้ดูไม่เป็นธรรมชาติ เนื้อหาส่วนนี้จึงเป็นเหมือนส่วนเติมเต็มให้กับตัวเอง ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ใช้เวลาคิดค้นเกี่ยวกับหลักธรรมหลายๆ อย่าง ท่านเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ก่อนที่จะทรงเห็นแจ้งในทุกสิ่งในคืนที่พระองค์ตรัสรู้

20 มิถุนายน 2549

Culture Shock

เมื่อวานไปนั่งคุยกับนักศึกษาเรื่องแปลกๆ ในญี่ปุ่น ทำให้นึกน่าจะเขียนเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นไว้บ้างดีกว่า

  • คนญี่ปุ่นจะมีวิธีการใช้เสียงที่ในสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างไปจากคนไทย เช่น ผู้ชายญี่ปุ่นเวลาคิดไม่ออก หรือนึกไม่ออก มักจะหายใจเข้าผ่านทางไรฟัน ได้เป็นเสียงแปลก หรือผู้หญิง (รวมทั้งผู้ชายด้วย)เวลาได้ยินเรื่องแปลกๆ หรือเรื่องที่ไม่เคยได้ยิน ไม่คาดคิดมาก่อน มักจะพูดว่า เห...... (ยิ่งยาวมาก ก็แปลว่ายิ่งแปลกใจมาก) จนทำให้รายการทีวีรายการหนึ่ง (トリビアの泉 -- Fountain of Trivia) เอาไปตั้งเป็นหน่วยวัดความแปลกใจ เรียกเป็น 1 เห, 2 เห, อะไรทำนองนี้ คือรายการนี้เขาจะให้ทางบ้านส่งเรื่องแปลกมา แล้วก็ให้แขกในรายการให้คะแนนว่าได้กี่เห เอาไปกำหนดเป็นรางวัล ยิ่งได้เหมาก ก็จะได้เงินรางวัลมาก (เห็นเมืองไทยก็มีรายการเลียนแบบ (หรือไม่ก็ซื้อมา) แต่ไม่เห็นดังเท่าในญี่ปุ่นเลย ไม่รู้เพราะอะไร ไม่รู้เขาใช้เหเหมือนกันหรือเปล่า) นอกจากนี้เวลาคนญี่ปุ่นนึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร (ถ้าเป็นคนไทยก็มักจะ เอ่อ....) มักจะพูดว่า อะโน... หรือไม่ก็ เอ...โตะ อันแรกไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ แต่อันหลังได้ยินครั้งแรกก็งงว่าทำไมมันจะต้องลงท้ายด้วยโตะ เอ....ไปเฉยๆ ไม่ได้เหรอ แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ แถมหลังๆ ตัวเองก็ติดคำนี้ไปเหมือนกัน อีกเรื่องนึงที่นึกออกตอนนี้ก็คือเวลาคนญี่ปุ่นจะเรียกเพื่อนที่เดินมา แต่ไม่ได้หันมามองคนเรียก เขา (เฉพาะผู้ชาย) จะพูดว่า โอ้ย โอ้ย แล้วส่วนใหญ่มันก็มักจะหันมา เคยเจอเพื่อนเรียกเหมือนกันแต่ไม่หัน ก็ใครจะไปรู้ว่ามันกำลังเรียก คิดว่ามีใครกำลังเจ็บ อีกเรื่องหนึ่งที่ตลกตอนเรียนภาษาญี่ปุ่นใหม่ๆ คือ คำทักทายตอนเช้าที่ว่าโอะฮาโย สำหรับคนที่เป็นเพื่อนแล้ว เขาจะใช้ทุกเวลา เมื่อเป็นครั้งแรกที่เจอเพื่อนคนนั้นในวันนั้น ดังนั้นแม้ว่าจะเป็นตอนหกโมงเย็น คนญี่ปุ่นก็จะโอะฮาโย ที่นี้พอเห็นเป็นคนต่างชาติ เขาก็เลยพยายามพูดภาษาอังกฤษ เลยกลายเป็น Good morning แม้ว่าจะเจอกันตอนมืดๆ ก็ตาม
  • ส่วนเรื่อง culture shock อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับภาษา ก็น่าจะมีเรื่องการอาบน้ำในห้องน้ำรวม ตอนไปใหม่ๆ ก็รู้สึกแปลกๆ ที่จะต้องไปแก้ผ้าอาบน้ำในที่สาธารณะ จริงๆ แล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีห้องอาบน้ำสาธารณะเท่าไหร่ เพราะบ้านคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมีห้องอาบน้ำแล้ว ยกเว้นบ้านเช่าราคาถูก ที่จะไม่มีห้องอาบน้ำในตัว หรือมีแบบแบ่งกันใช้ แต่ว่าเวลาไปเที่ยวตามแหล่งน้ำพุร้อน ถ้าจะไปแช่น้ำพุร้อน ก็ต้องเข้าไปใช้ห้องอาบน้ำสาธารณะอยู่ดี เวลาเข้าไปอาบน้ำ ก็ต้องเข้าไปในห้องแต่งตัว ถอดเสื้อผ้าออกวางไว้ในช่องที่เขาจัดไว้ให้ของใครของมัน แล้วค่อยเดินไปบริเวณสำหรับอาบน้ำ ที่จะมีเก้าอี้ตัวเล็กไว้ให้นั่งอาบ แบ่งเป็นช่องๆ อาบน้ำเสร็จ สะอาดแล้ว จึงจะเดินไปลงแช่ในอ่างขนาดใหญ่รวมกัน ซึ่งคนไทยที่ไปอยู่ญี่ปุ่นใหม่ๆ มักจะเป็นเหมือนกันคือ ไปถึงห้องแต่งตัว ก็จะแยกย้ายกันไปถอดเสื้อผ้า ไปอาบน้ำจนเสร็จ แล้วจึงจะมาเจอกันอีกครั้งตอนแช่ในอ่างใหญ่ ที่มีน้ำช่วยอำพรางร่างกาย ประมาณว่ากับคนญี่ปุ่นที่ไม่รู้จักก็จะไม่ค่อยอายเท่าไหร่ แต่ไม่อยากเจอเพื่อนคนไทยด้วยกัน :)

06 มิถุนายน 2549

Postfix กับ MySQL

ช่วงนี้กำลังใกล้จะเปิดเทอม เลยมีงานหลายๆ อย่างที่จะต้องรีบทำ อย่างวันนี้ก็จัดการสร้างที่อยู่อีเมลของภาควิชาฯ ให้กับนักศึกษาปี 2 ที่กำลังจะเข้าภาคใหม่ในปีนี้ เดิมทีภาคไม่เคยมีบริการอีเมลในนักศึกษา เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านทรัพยากรเครื่องและคน พอไม่มีก็จะทำให้ติดต่อนักศึกษาค่อนข้างยาก ไม่มีช่องทางติดต่อ อาจารย์แต่ละวิชาก็ต้องหาทางติดต่อนักศึกษากันเอง ปีนี้มีเครื่องเหลือพอทำงานได้อยู่เครื่องหนึ่ง เลยเอามาจัดการอีเมล ครั้นจะสร้างที่เก็บเมลให้เลย ก็มีพื้นที่อยู่ไม่เท่าไหร่ แล้วก็ไม่รู้จะมาเช็คกันหรือเปล่า สุดท้ายเลยเกิดแนวคิดที่จะส่งต่อเมลไปยังเมลที่นักศึกษาใช้กันประจำอยู่แล้ว ทำให้สะดวกมากขึ้น ทั้งยังลดทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ด้วย

เมื่อวานนี้เลยนั่งเว็บง่ายๆ (พร้อมบัก) ด้วย php ให้นักศึกษาสามารถแก้ไขอีเมลปลายทางที่ต้องการให้ส่งต่อได้เอง ใช้ mysql เก็บข้อมูล จากนั้นก็ไปกำหนดให้ postfix ไปอ่านข้อมูลจากตารางใน mysql เพื่อส่งต่อเมล ซึ่ง postfix ก็สนับสนุนอยู่แล้ว (เพียงแต่ว่าดิสตริบัวชันส่วนใหญ่จะไม่ได้สร้างไบนารีที่สนับสนุน mysql มาให้ ก็อาจจะต้องมาสร้างแพคเกจเอาเอง) เสร็จแล้วก็ไปสร้างไฟล์ชื่ออะไรก็ได้ เพื่อกำหนดวิธีการติดต่อกับ mysql

hosts = 127.0.0.1
user = postfix
password = xxx
dbname = DB
query = SELECT forward FROM alias WHERE account = '%u'

จะเห็นว่ามีการกำหนดคำสั่ง sql ซึ่งจะเลือกข้อมูลการส่งต่อ จากอีเมลที่กำหนด (ใช้ %u หมายถึงชื่ออีเมล และ %s หมายถึงที่อยู่อีเมลทั้งหมด) จากนั้นก็ไปเพิ่มคำสั่งกำหนด alias ในไฟล์ main.cf อีกหนึ่งบรรทัดก็เป็นอันเสร็จสิ้น

alias_maps = mysql:/etc/mysql.aliases

ที่มา: Postfix MySQL Howto, Fedora Wiki, และ "man mysql_table"

CSS กับ Page break

เพิ่งรู้ว่าเราสามารถกำหนด page break ลงไปใน html ได้ด้วยความช่วยเหลือของ css เลยขอเอามาจดไว้หน่อยกันลืม พอดีวันนี้ต้องการทำ account กับ password ลงกระดาษแจกนักเรียน สร้างเป็น html ใส่ page break คั่นเป็นระยะๆ ก็ง่ายดี สวยด้วย ตอนแรกกะจะสร้าง LaTeX แต่ดูแล้วน่าจะเหนื่อยกว่า

<style>
p.pagebreak { page-break-before: always; }
</style>
<p class="pagebreak" />

ขอขอบคุณ: CSS and Printing และ Google